อาจเคยได้ยินว่า การบริโภคน้ำตาล (ที่เติมเพิ่มในอาหาร) นั้น ไม่ควรจะเกินวันละ 8 ช้อนชา หรือ 40 กรัม (6 ช้อนชา หรือ 30 กรัม สำหรับเด็ก) เพราะจะทำให้ฟันผุได้ง่าย
ตัวเลขดังกล่าวมาจากการคำนวณปริมาณน้ำตาลใน 1 ปี ที่ประชากรในประเทศบริโภค แล้วหาความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคอ้วนและฟันผุในประชากร ซึ่งเมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อคน ได้เท่ากับ 15 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือ 40 กรัมต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็นพลังงานที่ได้รับจากน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน
อย่างไรก็ดี งานวิจัยระยะหลังพบว่า ปริมาณน้ำตาลที่สร้างอันตรายต่อฟันน้อยลงกว่าที่เคยเชื่อกัน บางงานวิจัยพบว่าไม่มีปริมาณที่แน่นอน หรือโอกาสเกิดการอ้วนจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามปริมาณน้ำตาลที่บริโภค ซึ่งหมายถึงไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยนั่นเอง
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ สำหรับร่างกายคนเราที่จะต้องบริโภคน้ำตาล (หมายถึงน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหาร) อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกรับรองว่าไม่ควรเกินร้อยละ 5 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน เท่ากับ 4 ช้อนชา หรือ 20 กรัมต่อวัน
คำแนะนำดังกล่าวอาจเป็นการต่อรองกับสิ่งที่ประชาชนสามารถปฏิบัติได้จริง แต่ในทางปฏิบัติ คงไม่เหมาะสมและสร้างความลำบากไม่ใช่น้อย หากแต่ละบุคคลจะต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลที่กินในแต่ละวันให้ไม่เกิน 40 กรัม หรือ 8 ช้อนชา หมายถึง จะต้องคำนวณปริมาณน้ำตาลในอาหารทุกอย่างที่กิน จากร้อยละของน้ำตาลที่ระบุไว้บนฉลาก คิดเป็นกรัม (เช่น นมหวาน 200 มล. เติมน้ำตาลร้อยละ 5 เท่ากับมีน้ำตาล 10 กรัม) แล้วทดเอาไว้ในใจ เพื่อนำไปบวกกับอาหารอื่นๆ ที่กินในวันนั้นตลอดทั้งวัน วิธีดังกล่าวคงสร้างภาระในการใช้ชีวิตประจำวันไม่ใช่น้อย (เช่นเดียวกับการนับแคลอรีที่ได้รับในแต่ละวัน)
งานวิจัยจำนวนมากพบว่า ปริมาณน้ำตาลที่บริโภคมีความสัมพันธ์กับความถี่ในการบริโภคหวาน (จากการเติมน้ำตาล) ถ้าบริโภคอาหารหวานบ่อยครั้งในแต่ละวัน ปริมาณน้ำตาลที่บริโภคย่อมสูงตามด้วย ความถี่ของการกินน้ำตาลจะส่งผลต่อความอ้วนโดยตรง ดังนั้น ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของแต่ละคนที่เหมาะสม คือ ลดความถี่ ในการบริโภคอาหารหวานเติมน้ำตาลลง ไม่ควรเกิน 4 ครั้งต่อวัน (รวมที่บริโภคในมื้ออาหารด้วย)
การควบคุมความถี่ของการบริโภคน้ำตาลเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการควบคุมปริมาณ ดังนั้นหากกินอาหารว่างและเครื่องดื่ม ให้เลือกชนิดที่ไม่เติมน้ำตาลไว้ก่อน เพื่อควบคุมไม่ให้เกิน 4 ครั้ง